ห้องปฏิบัติการทันสมัย

 

ห้องบันทึกเสียง (Sound Recording Studio) จำนวน 8 ห้อง

ประกอบด้วยห้องบันทึกเสียงที่มีขนาดและลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกัน ใช้สำหรับการเรียนการสอนและการฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการบันทึกเสียง เพื่อนำไปประกอบหรือเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางวิทยุโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นการอัดเสียง สปอตวิทยุ การอัดเสียงนำไปตัดต่อทำเป็นช่วงไตเติ้ลรายการ หรือการทำ Podcast ในคอนเทนต์ที่สนใจและกำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ รวมถึงการฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการผลิตรายการ ทางวิทยุกระจายเสียงในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสาระ และบันเทิง รูปแบบการจัดรายการสดหรือการบันทึกเทป 

 

 

ห้องจัดรายการวิทยุ (Radio Station) จำนวน 2 ห้อง

ห้องบันทึกเสียงขนาดใหญ่ที่รองรับงานด้านการบันทึกเสียงโดยทั่วไป และยังใช้เป็นห้องสำหรับการจัดรายการวิทยุโดยเฉพาะ ลักษณะของห้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหนึ่งสำหรับการจัดรายการวิทยุ ที่ได้นำอุปกรณ์ระดับเดียวกับมืออาชีพใช้งาน สำหรับงานด้านการผลิตและการจัดรายการวิทยุ หรือเรียกว่าระบบ Radio Automation (RCS Software) ที่สามารถจะทำการออกอากาศแบบอัตโนมัติ และออกอากาศได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเป็นระบบที่ทันสมัย และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศที่ได้นำอุปกรณ์ดังกล่าว มาใช้ในการเรียนการสอนและการฝึกปฏิบัติสำหรับนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์

 

 

ห้องบันทึกเสียง (Sound Recording Studio) จำนวน 6 ห้อง

เป็นห้องบันทึกเสียงขนาดใหญ่ และขนาดเล็กที่สามารถรองรับสำหรับงานบันทึกเสียงทั่วไป จนถึงงานบันทึกเสียงที่มีความละเอียดซับซ้อนและต้องการความพิถีพิถัน โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับงานบันทึกเสียง (Protools Software) โดยเฉพาะเข้ามาช่วย ในการรองรับลักษณะการบันทึกเสียงรูปแบบต่างๆ และในจำนวนห้องบันทึกเสียงทั้งหมด มี 2 ห้องที่ออกแบบให้เป็นห้องที่ใช้สำหรับการฝึกการจัดรายการทางวิทยุโดยเฉพาะ (Sound Booth) โดยจะติดตั้งอุปกรณ์แบบพื้นฐานที่จำเป็นต่อการฝึกการจัดรายการด้วยตัวเองให้เกิดความเชี่ยวชาญ ก้าวไปสู่การใช้อุปกรณ์ในระดับมืออาชีพ

 

 

ห้องถ่ายทำรายการโทรทัศน์ (Broadcasting Studio) จำนวน 3 ห้อง

สำหรับการเรียนการสอน และการฝึกปฏิบัติการจัดรายการโทรทัศน์ประเภทต่าง ๆ เช่น รายการข่าว ละคร รายการวาไรตี้ รองรับการถ่ายทรายการโทรทัศน์ความคมชัดระดับ Hi-Definition แต่ละห้องจะมีห้องควบคุม อยู่ด้านบนเหนือประตูทางเข้า เพื่อความสะดวกในการควบคุมการผลิตรายการ และห้องถ่ายทำรายการโทรทัศน์ จำนวน 3 ห้อง ก็จะมีขนาด และมีอุปกรณ์ติดตั้งที่แตกต่างกัน ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน เช่น Tele Prompter เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อรองรับการทำรายการข่าวทางโทรทัศน์ เพื่อช่วยให้ผู้ประกาศข่าวมองเห็นเนื้อหาของข่าวที่จะอ่านผ่านทางกล้องโทรทัศน์ได้ในทันที และแต่ละห้องยังติดตั้งฉาก Green Screen เพื่อใช้ประกอบสำหรับการสร้างฉากเสมือนจริง (Virtual Set) แบบ 3 มิติ โดยการสร้างฉากเสมือนจริง จะสร้างจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีใช้ในสถานีโทรทัศน์เท่านั้น

 

 

ห้องควบคุมกลาง (MCR : Master Control Room)

เป็นศูนย์กลางของการควบคุมระบบโดยรวมของห้องปฏิบัติการนิเทศศาสตร์คอมเพล็กซ์ ที่มีการเชื่อมโยงสัญญาณภาพและเสียงจากห้องถ่ายทำรายการโทรทัศน์ (Broadcasting Studio) ทั้ง 3 ห้อง และห้องจัดรายการวิทยุกระจายเสียง เพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงาน การตรวจสอบคุณภาพด้านเทคนิคการผลิต และจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดรายการ  หรือการออกอากาศรายการทางวิทยุโทรทัศน์ ผ่านทางระบบเครือข่ายของมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกอากาศสัญญาณที่มีความคมชัดสูง  (HDTV) และเพื่อเพิ่มช่องทางในออกอากาศเชื่อมโยงไปสู่เครือข่ายภายนอก

 

 

ห้องปฏิบัติการถ่ายภาพ (Photography Studio)

ใช้สำหรับการเรียนการสอน และฝึกปฏิบัติด้านการถ่ายภาพ ที่เน้นถ่ายภาพภายในสตูดิโอ โดยให้มีการจัดฉาก การให้แสงไฟ เพื่อสร้างให้เกิดอารมณ์หรือเกิดมิติตามแนวความคิดสร้างสรรค์ เพื่อนำภาพนั้นๆ ไปประกอบหรือเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือสื่อด้านอื่นๆต่อไป ในห้องดังกล่าว นอกจากจะจัดให้มีชุดไฟที่ใช้สำหรับการถ่ายภาพโดยเฉพาะแล้ว อุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างยิ่งคือกล้องถ่ายภาพแบบดิจิทัล (Digital SLR) ที่รองรับการถ่ายภาพในหลายๆ ลักษณะ พร้อมต่อเชื่อมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อการเรียนรู้กระบวนการทำงานที่ต่อเนื่องของการผลิตสื่อที่เป็นภาพถ่าย ก่อนที่จะนำไปประกอบหรือเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารรูปแบบต่างๆต่อไป

 

 

ห้องตัดต่อเทปโทรทัศน์ (Video Editing Room) จำนวน 9 ห้อง

เป็นห้องที่ใช้ในการเรียนการสอน กระบวนการตัดต่อวิดีโอ เพื่อผลิตสื่อทางโทรทัศน์ เช่น การผลิตภาพยนตร์โฆษณา สารคดี งานข่าวทางโทรทัศน์

หรือการผลิตรายการทางโทรทัศน์ประเภทต่าง ๆ โดยอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Final Cut ProX ) เข้ามาช่วยในกระบวนการตัดต่อทั้งหมด รองรับการตัดต่อวิดีโอความคมชัดระดับ Hi-Definition และรองรับความคมชัดสูงยิ่งขึ้นในระดับ 4K รวมถึงสามารถทำเทคนิคพิเศษต่างๆที่มีความซับซ้อนได้

 

 

ห้องปฏิบัติคอมพิวเตอร์เพื่อการตกแต่งภาพ (Digital Photo-graphic Lab)

เป็นห้องที่ใช้ฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับภาพถ่ายดิจิทัล ที่เป็นกระบวนการต่อเนื่อง ตั้งแต่ขั้นตอนการนำภาพที่เป็นไฟล์ดิจิทัลมาปรับแต่งด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์กราฟิก ได้แก่ Adobe Photoshop , Lightroom เพื่อนำภาพเหล่านี้ไปใช้งานนิเทศศาสตร์

 

ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์กราฟิก (Computer Graphic Zone)

ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์กราฟิก ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แบบ Macintosh เพื่อรองรับการเรียนการสอนเกี่ยวกับการผลิตสื่อเพื่องานโฆษณาประชาสัมพันธ์ ออกแบบจัดหน้าสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ รวมถึงการตัดต่อวิดีโอในระบบดิจิทัล

 

 

ห้องปฏิบัติการวารสารศาสตร์ (Journalism Laboratories)

ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการสิ่งพิมพ์ และห้องปฏิบัติการวารสารศาสตร์ออนไลน์ โดยห้องปฏิบัติการสิ่งพิมพ์ใช้สำหรับให้นักศึกษาเรียนรู้กระบวนการจัดทำหนังสือพิมพ์และนิตยสารในชื่อ “บ้านกล้วย” เพื่อนำเสนอข่าวสาร ความรู้ และความบันเทิง ด้วยเครื่องมืออันทันสมัย นอกจากนี้ยังใช้ในงานปฏิบัติการสิ่งพิมพ์ เพื่องานประชาสัมพันธ์อีกด้วย และในส่วนของห้องปฏิบัติการวารสารศาสตร์ออนไลน์ นักศึกษาจะได้เรียนรู้กระบวนการนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ ผ่านทางเว็บไซต์ข่าวได้อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์

 

ห้องปฏิบัติการศิลปะการแสดง (Performing Arts Laboratories)

ห้องปฏิบัติการศิลปะการแสดง (PA Studio) เป็นห้องปฏิบัติการที่รองรับการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาศิลปะการแสดง โดยจัดให้มีห้องปฏิบัติการเพื่อใช้ในการเรียนการสอนด้านพื้นฐานการแสดง การเคลื่อนไหว การฝึกเสียง นาฏยลีลา การกำกับการแสดงเบื้องต้น และใช้เป็นห้องซ้อมการแสดงก่อนเข้าสถานที่แสดงจริง

 

 

โรงละครนิเทศศาสตร์ (Black Box Theatre)

โรงละครนี้มีลักษณะเหมือนกล่องเปล่าสี่เหลี่ยมสีดำ จึงเป็นที่มาของชื่อที่เรียกว่า Black Box Theatre  รองรับผู้ชมได้สูงสุด 300 ที่นั่ง เวทีปล่อยของที่เต็มรูปแบบที่สุดโรงละครสุดล้ำที่ปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นได้ตามการใช้งาน ทุกพื้นที่ในโรงละครสามารถ ใช้แสดงได้ทั้งหมด สามารถสร้างสรรค์ได้ตามจินตนาการ พร้อมความอลังการของเทคนิคแสง สี เสียงตามมาตรฐานสากลเทียบเท่าโรงละครระดับชาติ ที่โรงละครแห่งนี้ นักศึกษาที่เรียนศิลปะการแสดงทุกคนจะได้เรียนรู้ทั้งงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ทั้งการออกแบบฉาก เวที คอสตูม การจัดแสง และการออกแบบเสียงต่างๆ การกำกับการแสดงที่ยิ่งใหญ่ตระการตา

บริเวณพื้นกลางห้องซ่อนช่องทางลงใต้ดิน (Trap Door) ซึ่งเจาะเป็นทางเดินเชื่อมไปขึ้นที่ บริเวณส่วนเตรียมการแสดง (Green Room) ทั้งนี้เพื่อใช้ประโยชน์ที่อาจมีต้องเลื่อนขึ้นหรือลงใต้ดิน โรงละครมีทางเดินสองชั้น (Catwalk) รอบโรงละครเพื่อประโยชน์ในการติดตั้งอุปกรณ์แสง และยังสามารถจัดเป็นที่นั่งผู้ชมได้อีกด้วย อุปกรณ์แสงพื้นฐานทุกชนิด รวมทั้งอุปกรณ์แสงพิเศษที่ใช้ในการแสดงสด (Live Performance) ทั้งละครเวที การแสดง คอนเสิร์ต รวมทั้งเครื่องสร้างเอฟเฟคต์ต่าง ๆ เช่น เครื่องสร้าง ควัน ม่านดาว โครงสร้างสำหรับ ติดตั้งแสงและฉาก ของโรงละครได้กำหนดไว้เพื่อรองรับระบบการเปลี่ยนฉากได้ทุกระบบ และยังเอื้อประโยชน์ต่อการใช้สลิงเพื่อเพิ่มเทคนิคพิเศษในการแสดง 

ส่วนหลักของการเรียนรู้ที่สำคัญก็คือห้องเรียนเสมือนจริงต่างๆ คือ ความพร้อมที่คณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ มอบให้นักศึกษาทุกคนให้ได้รับประโยชน์จากการเรียนอย่างเต็มที่ สนับสนุนให้นักศึกษาเรียนจบไปเป็นบุคลากรในสายงานได้อย่างมืออาชีพ

  • แหล่งที่มา: คณะนิเทศศาสตร์
  • อัพเดทล่าสุด : 25 ตุลาคม 2561, 16:03:34 น.