การฝึกงานและสหกิจศึกษา

โครงการสหกิจศึกษา

สหกิจศึกษา คือ ระบบการศึกษาที่เน้นการปฏิบัติงานในสถานประกอบการอย่างมีระบบ โดยจัดให้มีการเรียนในสถานศึกษาร่วกับการจัดให้นักศึกษาไปปฏิบัติงานจริงในฐานะพนักงานชั่วคราว ณ สถานประกอบการที่ให้ความร่วมมือนักศึกษาจะได้เรียนรู้ประสบการณ์จริงจากการไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการ ทำให้ทราบว่าวิชาความรู้ที่เรียนมานั้นสามารถนำไปใช้งานและประกอบอาชีพได้อย่างไร ได้เปิดโลกทัศน์และสัมผัสเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ใช้งานจริง นอกจากนี้ยังได้พัฒนาตนเองในการอยู่ร่วกับสังคมในที่ทำงาน เรียนรู้การปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมต่อผู้ร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา และผู้บริหาร เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ และมีคุณสมบัติตรงตามที่สถานประกอบการต้องการ รวมทั้งมีวิสัยทัศน์มองเห็นแนวทางการประกอบอาชีพในอนาคต

วัตถุประสงค์ของโครงการสหกิจศึกษา

  • เพื่อเพิ่มประสบการณ์ทางด้านอาชีพและการพัฒนาตนเองแก่นักศึกษา
  • เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต
  • เพื่อส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถานประกอบการผ่านนักศึกษาที่ออกไปปฏิบัติงาน
  • เพื่อให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัยและตรงตามความต้องการของตลาดงาน

กระบวนการโครงการสหกิจศึกษา

  1. นักศึกษาส่งแบบฟอร์มการตรวจสอบคุณสมบัติในภาคการศึกษาที่ 1 ของชั้นปีที่ 3
  2. นักศึกษาภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศที่ผ่านการรับรองคุณสมบัติแล้ว สามารถลงทะเบียนในภาคการศึกษาที่ 2 ของชั้นปีที่ 3 สำหรับนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมซอฟแวร์ ที่ผ่านการรับรองคุณสมบัติแล้วสามารถลงทะเบียนในภาคการศึกษาที่ 1 ของชั้นปีที่ 4
  3. เตรียมความพร้อมให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการโดยจัดอบรมในภาคการศึกษาที่ 2 ของชั้นปีที่ 3
  4. รวบรวมตำแหน่งงานจากสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสหกิจศึกษา
  5. นักศึกษากรอกแบบฟอร์มสมัครงาน และแบบฟอร์มประวัตินักศึกษา ส่งให้อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการสหกิจศึกษา
  6. คัดเลือกนักศึกษาว่าจะให้นักศึกษาไปปฏิบัติงานที่สถานประกอบใด และแจ้งให้นักศึกษาทราบ
  7. จัดส่งนักศึกษาไปยังสถานประกอบการพร้อมเอกสารส่งตัว
  8. อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการสหกิจศึกษาไปนิเทศการทำงานของนักศึกษายังสถานประกอบการ เพื่อรับทราบการทำงานของนักศึกษา และปัญหาที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติงาน รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้บังคับบัญชาของนักศึกษาด้วย
  9. เมื่อนักศึกษาปฏิบัติหน้าที่ยังสถานประกอบการครบตามวาระแล้ว ต้องเขียนรายงานโครงการสหกิจศึกษา 1 ฉบับ
  10. สถานประกอบการส่งแบบประเมินการทำงานของนักศึกษา กลับมายังอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการสหกิจศึกษา
  11. อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการสหกิจศึกษาทำการประเมินนักศึกษา
  12. อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการสหกิจศึกษาจัดปัจฉิมนิเทศนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อรับฟังผลการประเมินจากสถานประกอบการ ผลการประเมินจากอาจารย์ที่ไปนิเทศงาน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ได้จากการทำงาน

ประโยชน์จากโครงการสหกิจศึกษา

ประโยชน์ต่อสถานประกอบการ

  • สถานประกอบการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตไทย และมีโอกาสเสริมสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพตรงตามที่สถานประกอบการต้องการ เพื่อเป็นบัณฑิตในอุดมคติขององค์กร
  • สถานประกอบการมีโอกาสแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนการสอนของคณะฯ เพื่อที่จะนำไปใช้ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัย และตรงตามความต้องการของตลาดงาน
  • สถานประกอบการมีโอกาสประชาสัมพันธ์ และแสดงศักยภาพขององค์กรต่อบุคคลภายนอก

ประโยชน์ต่อนักศึกษา

  • นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่ในห้องเรียน
  • นักศึกษามีโอกาสได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งใช้งานจริงอยู่ในปัจจุบัน
  • นักศึกษามีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลขึ้น เติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ
  • นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานร่วมกับผู้อื่น
  • นักศึกษาเล็งเห็นความสำคัญของการทำงานที่ได้รับมอบหมายจนสำเร็จ
  • นักศึกษามีความรับผิดชอบ และมีความภูมิใจในผลงานของตน
  • นักศึกษาได้เรียนรู้วิธีการคิด การพูด การอ่าน และการเขียนในเชิงวิชาการ
  • นักศึกษาสามารถวิเคราะห์ลักษณะงาน ตลอดจนวิพากษ์และประเมินผลการทำงานของตนเองได้

 

  • แหล่งที่มา: คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม
  • อัพเดทล่าสุด : 30 ตุลาคม 2561, 14:20:07 น.