คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2530 มีที่ทำการ ณ อาคาร 3 ชั้น 1 วิทยาเขตกล้วยน้ำไท และ อาคาร A4 ชั้น 2 วิทยาเขตรังสิต คณะได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้เปิดสอนในระดับปริญญาตรีหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต จำนวน 3 หลักสูตรคือ

  1. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์(ภาคปกติ) เปิดดำเนินการปีการศึกษา 2530
  2. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ(ภาคปกติ) เปิดดำเนินการปีการศึกษา 2542
  3. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (ภาคปกติ) เปิดดำเนินการปีการศึกษา 2547

ปีการศึกษา 2548 คณะเปิดหลักสูตรระดับวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต 1 หลักสูตร คือ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดการ (มี 2 แผน คือ แผน ก. ศึกษารายวิชาและทำวิทยานิพนธ์ และแผน ข. สอบประมวลความรอบรู้)

ปีการศึกษา 2548 – 2549 คณะได้เพิ่มพูนทักษะทางวิชาการและวิชาชีพให้แก่นักศึกษาโดยจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่วิทยาเขตรังสิตเพื่อให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 และปีที่ 2 ได้มีโอกาสเรียนรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยหลากหลายแขนงผ่านการอบรมสัมมนา และค้นพบศักยภาพของตนเองก่อนการเลือกเรียนตามสาขาที่ตนถนัด นอกจากนี้คณะได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่วิทยาเขตกล้วยน้ำไท เพื่อเป็นแหล่งฝึกฝนความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและสร้างสรรค์นวัตกรรมของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 และปีที่ 4 โดยคณะได้ร่วมมือกับบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจัดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ และให้บริการทางวิชาการแก่สังคมด้วยการจัดอบรมสัมมนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
ปีการศึกษา 2555 เพื่อการบริหารจัดการตามคำสั่งของมหาวิทยาลัยคณะได้รวมภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และภาควิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์เข้าด้วยกันและกำหนดตำแหน่งการบริหารงานของภาควิชาขึ้นใหม่เป็นหัวหน้าภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมซอฟต์แวร์

ปีการศึกษา 2559  คณะได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น  คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม  โดยชื่อเดิมคือ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ

ปีการศึกษา 2560 คณะเปิดหลักสูตรระดับวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกมและสื่ออินเทอร์แอคทีฟ (Bachelor of Science Program in Games and Interactive Media) ซึ่งได้รับความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำทางด้านเกมและสื่ออินเทอร์แอคทีฟในการพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน

คณะเปิดหลักสูตรระดับวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มุ่งเน้นวิทยาการข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์  Bachelor of Science (Computer Science) 

ตราสัญลักษณ์และสีประจำคณะ

ตราสัญลักษณ์
สีประจำคณะ
#7c231b RGB: 124 35 27 HEX: #7c231b
ปณิธานและพันธกิจ

ปรัชญา/ปณิธาน

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มีปณิธานมุ่งเน้นในการจัดการด้านการศึกษา งานวิจัย และการบริการวิชาการ เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความเป็นผู้ประกอบการ และมีคุณภาพตามมาตรฐานระดับสากล

วิสัยทัศน์

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมมีวิสัยทัศน์ในการเป็นแหล่งผลิตบัณฑิตด้านเทคโนโลยีชั้นนำในประเทศไทย ที่ผลิตบัณฑิตที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความเป็นผู้ประกอบการ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และมีคุณภาพตามมาตรฐานระดับสากล

พันธกิจ

  • พัฒนาหลักสูตรและจัดการการเรียนการสอนด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ ส่งเสริมการมีจิตวิญญาณผู้ประกอบการ และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
  • ผลิตผลงานทางวิชาการและผลงานวิจัยด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ได้จริงและบูรณาการให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ
  • จัดกิจกรรมทางวิชาการ เพื่อเผยแพร่ความรู้และบริการวิชาการแก่สังคม
  • ส่งเสริมให้บุคลากรและนักศึกษามีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมไทย มีคุณธรรมจริยธรรม และมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

วัตถุประสงค์

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของคณะไว้ดังนี้

  • เพื่อพัฒนาหลักสูตรและจัดการการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีความคิดสร้างสรรค์ มีจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ และมีความทันสมัยทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถประยุกต์ความรู้ที่ได้กับศาสตร์แขนงอื่นได้เป็นอย่างดี
  • เพื่อส่งเสริมการผลิตผลงานทางวิชาการและผลงานวิจัยของบุคลากร อันจะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงและบูรณาการให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการและให้บริการวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่สังคม ทำให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน
  • เพื่อทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย และปลูกฝังความมีคุณธรรมจริยธรรม ให้แก่บุคลากรและนักศึกษา
Cosmetic Image Cosmetic Image
การฝึกงานและสหกิจศึกษา

โครงการสหกิจศึกษา

สหกิจศึกษา คือ ระบบการศึกษาที่เน้นการปฏิบัติงานในสถานประกอบการอย่างมีระบบ โดยจัดให้มีการเรียนในสถานศึกษาร่วกับการจัดให้นักศึกษาไปปฏิบัติงานจริงในฐานะพนักงานชั่วคราว ณ สถานประกอบการที่ให้ความร่วมมือนักศึกษาจะได้เรียนรู้ประสบการณ์จริงจากการไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการ ทำให้ทราบว่าวิชาความรู้ที่เรียนมานั้นสามารถนำไปใช้งานและประกอบอาชีพได้อย่างไร ได้เปิดโลกทัศน์และสัมผัสเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ใช้งานจริง นอกจากนี้ยังได้พัฒนาตนเองในการอยู่ร่วกับสังคมในที่ทำงาน เรียนรู้การปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมต่อผู้ร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา และผู้บริหาร เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ และมีคุณสมบัติตรงตามที่สถานประกอบการต้องการ รวมทั้งมีวิสัยทัศน์มองเห็นแนวทางการประกอบอาชีพในอนาคต

วัตถุประสงค์ของโครงการสหกิจศึกษา

  • เพื่อเพิ่มประสบการณ์ทางด้านอาชีพและการพัฒนาตนเองแก่นักศึกษา
  • เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต
  • เพื่อส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถานประกอบการผ่านนักศึกษาที่ออกไปปฏิบัติงาน
  • เพื่อให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัยและตรงตามความต้องการของตลาดงาน

กระบวนการโครงการสหกิจศึกษา

  1. นักศึกษาส่งแบบฟอร์มการตรวจสอบคุณสมบัติในภาคการศึกษาที่ 1 ของชั้นปีที่ 3
  2. นักศึกษาภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศที่ผ่านการรับรองคุณสมบัติแล้ว สามารถลงทะเบียนในภาคการศึกษาที่ 2 ของชั้นปีที่ 3 สำหรับนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมซอฟแวร์ ที่ผ่านการรับรองคุณสมบัติแล้วสามารถลงทะเบียนในภาคการศึกษาที่ 1 ของชั้นปีที่ 4
  3. เตรียมความพร้อมให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการโดยจัดอบรมในภาคการศึกษาที่ 2 ของชั้นปีที่ 3
  4. รวบรวมตำแหน่งงานจากสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสหกิจศึกษา
  5. นักศึกษากรอกแบบฟอร์มสมัครงาน และแบบฟอร์มประวัตินักศึกษา ส่งให้อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการสหกิจศึกษา
  6. คัดเลือกนักศึกษาว่าจะให้นักศึกษาไปปฏิบัติงานที่สถานประกอบใด และแจ้งให้นักศึกษาทราบ
  7. จัดส่งนักศึกษาไปยังสถานประกอบการพร้อมเอกสารส่งตัว
  8. อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการสหกิจศึกษาไปนิเทศการทำงานของนักศึกษายังสถานประกอบการ เพื่อรับทราบการทำงานของนักศึกษา และปัญหาที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติงาน รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้บังคับบัญชาของนักศึกษาด้วย
  9. เมื่อนักศึกษาปฏิบัติหน้าที่ยังสถานประกอบการครบตามวาระแล้ว ต้องเขียนรายงานโครงการสหกิจศึกษา 1 ฉบับ
  10. สถานประกอบการส่งแบบประเมินการทำงานของนักศึกษา กลับมายังอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการสหกิจศึกษา
  11. อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการสหกิจศึกษาทำการประเมินนักศึกษา
  12. อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการสหกิจศึกษาจัดปัจฉิมนิเทศนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อรับฟังผลการประเมินจากสถานประกอบการ ผลการประเมินจากอาจารย์ที่ไปนิเทศงาน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ได้จากการทำงาน

ประโยชน์จากโครงการสหกิจศึกษา

ประโยชน์ต่อสถานประกอบการ

  • สถานประกอบการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตไทย และมีโอกาสเสริมสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพตรงตามที่สถานประกอบการต้องการ เพื่อเป็นบัณฑิตในอุดมคติขององค์กร
  • สถานประกอบการมีโอกาสแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนการสอนของคณะฯ เพื่อที่จะนำไปใช้ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัย และตรงตามความต้องการของตลาดงาน
  • สถานประกอบการมีโอกาสประชาสัมพันธ์ และแสดงศักยภาพขององค์กรต่อบุคคลภายนอก

ประโยชน์ต่อนักศึกษา

  • นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่ในห้องเรียน
  • นักศึกษามีโอกาสได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งใช้งานจริงอยู่ในปัจจุบัน
  • นักศึกษามีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลขึ้น เติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ
  • นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานร่วมกับผู้อื่น
  • นักศึกษาเล็งเห็นความสำคัญของการทำงานที่ได้รับมอบหมายจนสำเร็จ
  • นักศึกษามีความรับผิดชอบ และมีความภูมิใจในผลงานของตน
  • นักศึกษาได้เรียนรู้วิธีการคิด การพูด การอ่าน และการเขียนในเชิงวิชาการ
  • นักศึกษาสามารถวิเคราะห์ลักษณะงาน ตลอดจนวิพากษ์และประเมินผลการทำงานของตนเองได้

 

Executives / Faculty Members
การสมัครเรียน
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม