Featured Stories
คณะนิเทศศาสตร์ — ข่าวสารและบทความ — รางวัลสุรินทราชา รางวัลเกียรติยศสำหรับนักแปลดีเด่น
หลายคนอาจเคยเห็นผลงานการแสดงละครเวทีของนักศึกษาสาขาวิชาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์มามากมาย เบื้องหลังความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของละครเวทีคือบทละครแปลจากผลงานระดับโลกมาถ่ายทอดเป็นงานแปลวรรณกรรมกว่า 10 เรื่อง จากปลายน้ำหมึกของ ผศ.พรรณศักดิ์ สุขี หัวหน้าภาควิชาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์
จุดเริ่มต้นของการหลงรักงานแปล
เริ่มสนใจมนุษย์ผ่านวรรณกรรมและวรรณกรรมแปลมาตั้งแต่เด็ก ต้องขอขอบคุณคุณยายที่ทำให้ผมรักหนังสือ รักการอ่าน ผมได้อ่านแมรี คอเรลลี เพิร์ล เอส บัค และไม่เคยรู้สึกว่าภาษาเป็นอุปสรรคที่ทำให้เราถอยห่างหรือเป็นอื่น ทั้งนี้เพราะสำนวนแปลที่ทำให้โลกที่ต่างกลายเป็นหนึ่งเดียว
ผลงานการแปลเล่มแรก…
ตอนนั้นกำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย หนังสือเล่มแรกที่หยิบมาแปลแล้วทำให้หลงรักที่อยากจะแปล คือ บทละครเรื่อง Blood Wedding ของนักเขียนบทละครชาวสเปน Federico Garcia Lorca เสน่ห์ของเรื่องนี้ที่ทำให้หลงรักเป็นกวีนิพนธ์ละครที่มีบทกลอนไม่ใช่เพียงแต่พรรณนา
หัวใจของการแปล
งานแปลวรรณกรรม คือการถ่ายทอดสุนทรียรสทางวรรณศิลป์ข้ามภาษาและวัฒนธรรม ผสานโลกที่แตกต่างกันของผู้เขียนกับผู้อ่านให้เป็นหนึ่งเดียว และทำให้เราตระหนักว่า โลกเรานี้ช่างกว้างใหญ่และมีอะไรให้เรียนรู้มากมายเหลือเกิน และสิ่งที่เราเรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุดก็คือ "มนุษย์" ดังนั้น หัวใจการแปลโดยเฉพาะการแปลบทละครจึงต้องคำนึงว่า นอกจากการรักษาความหมายของต้นฉบับอย่างซื่อสัตย์แล้ว ทำอย่างไรจะแปลให้นักแสดง "พูดได้" หรือที่เรียกว่า "เข้าปาก" และที่สำคัญคือจะต้อง "เล่นได้" (Actable) หมายถึงสามารถแสดงออกถึง Dramatic Action ที่แฝงอยู่ใน Dialogue ที่พูดนั้น
แรงบันดาลใจจากบรมครู
ครั้งนึงเคยได้อ่านงานแปลบทละครของบรมครูทางการละครในประเทศไทย เช่น ตุ๊กตาแก้ว (The Glass Menagerie) ของรองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา (A Streetcar Named Desire) ของศาสตราจารย์ ดร.มัทนี รัตนิน ซึ่งทั้งสองเรื่องแปลจากบทละครอเมริกันชั้นเลิศของเทนเนสซี วิลเลียมส์ (Tennessee Williams) ผมยิ่งได้ประจักษ์ว่าเสียงที่มีวิญญาณคืออะไร ตัวละครทุกตัวมีเสียงของตัวเองที่แตกต่างกัน เสียงบอกถึงความเป็นปัจเจก เป็นหนึ่งเดียว ไม่เหมือนใคร เสียงนั้นกู่ร้องให้เราทำความเข้าใจเขา ผมจึงเริ่มแปลบทละคร เพราะไม่อยากให้ตัวละครมีชีวิตอยู่แค่ในกระดาษ แต่อยากให้พวกเขามีชีวิตโลดแล่นอยู่บนเวทีจริง ๆ
รางวัลนี้ขอมอบให้...
รางวัลสุรินทราชา ครั้งที่ 13 ประจำปี 2562 ที่ผมได้รับนี้ ต้องขอมอบให้นักแสดงของผมทุกคนที่พากเพียรพยายามพูดบทแปลของผม ที่บางครั้งใช้ภาษาไม่ง่ายเลย บางครั้งมีการเล่นคำ เล่นอักษร เพื่อรักษารสวรรณกรรม แต่นักแสดงของผมก็ฝึกพูดคำอันยากเย็นนั้นให้เป็นธรรมชาติ ราวกับกลั่นออกมาจากจิตวิญญาณของเขาเอง ในการแปลละครเพลงยิ่งมีความยากขึ้นเพราะภาษาไทยมีวรรณยุกต์ เราจึงต้องเลือกสรรคำที่ตรงความหมายและต้องตรงโน้ต ไม่ขืนโน้ต ซึ่งทั้งผู้กำกับดนตรีและนักแสดงล้วนมีส่วนช่วยผมอย่างยิ่งกว่าจะร้องออกมาได้เป็นเพลงอันไพเราะรื่นหู