กล่าวได้ว่า คณะบริหารธุรกิจ เป็นแผนกวิชาแรกเช่นเดียวกับแผนกวิชาบัญชีที่ก่อตั้งขึ้นพร้อมกับการจัดตั้งวิทยาลัยไทยเทคนิค ปี พ.ศ. 2505 ในช่วงแรกที่เปิดดำเนินการสอน คณะบริหารธุรกิจมีสถานภาพเป็นแผนกวิชาบริหารธุรกิจและแผนกวิชาการเลขานุการ มีหัวหน้าแผนกวิชาเป็นผู้รับผิดชอบ
ปี พ.ศ. 2515 ได้เปิดสาขาวิชาการเงิน สาขาวิชาการตลาด และสาขาวิชาบริหารทั่วไป โดยสังกัดอยู่ในแผนกวิชา
บริหารธุรกิจ
ปี พ.ศ. 2516 ได้เปิดสอนแผนกบริหารธุรกิจในหลักสูตรภาคค่ำ
ปี พ.ศ. 2518 ได้เปิดแผนกบริหารงานบุคคล
ปี พ.ศ. 2519 สาขาวิชาบริหารทั่วไปได้เปลี่ยนชื่อเป็นสาขาวิชาการการจัดการ และได้จัดตั้งแผนกวิชาการเลขานุการเป็นแผนกวิชาอิสระ (ภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นสาขาวิชาหนึ่งของคณะบริหารธุรกิจ เรียกว่า สาขาวิชาการเลขานุการ)
ปี พ.ศ. 2520 ได้มีการเปลี่ยนสถานภาพจากการใช้ชื่อเรียกว่าแผนกวิชามาเป็นคณะ แผนกวิชาบริหารธุรกิจจึงเปลี่ยนเป็นคณะบริหารธุรกิจ และเรียกชื่อแผนกในสังกัดคณะเป็นภาควิชา โดยที่การเรียนการสอนของคณะได้มุ่งเน้นให้นักศึกษาได้ฝึกฝนและหาประสบการณ์จากการฝึกงานในสถานการณ์จริง
ปี พ.ศ. 2526 ด้วยปณิธานของคณาจารย์ผู้สอนที่เล็งเห็นช่องทางการเสริมสร้างทักษะนักศึกษา ทางคณะบริหารธุรกิจ จึงได้มีการริเริ่มจัดตั้งโครงการบริษัทจำลองรีจอยซ์ ( Rejoice Simulated Company) ซึ่งเป็นโครงการฝึกงานภาคฤดูร้อนของนักศึกษาสาขาวิชาการตลาดชั้นปีที่ 3 ซึ่งคณะบริหารธุรกิจกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาเกี่ยวกับการฝึกงานด้านวิชาชีพ (Professional Internship) โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมการจัดการ ธุรกิจแห่งประเทศไทย ( T.M.A.) การจัดตั้งบริษัทจำลองนี้ขึ้นทำให้นักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์ตรงด้วยการปฏิบัติงานด้านการบริหารและการขาย รวมทั้งยังได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่นและรับผิดชอบงานของตนเองได้อย่างดี
ปี พ.ศ. 2528 คณะบริหารธุรกิจได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาหลักสูตรให้ก้าวสู่ความเป็นสากล จึงได้ริเริ่มเปิดดำเนินการสอนหลักสูตร English Program ในสาขาวิชาการตลาด (ปี พ.ศ. 2531 หลักสูตรนี้ได้เปลี่ยนชื่อเรียกว่าเป็น International Program) โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการเรียนการสอนทุกวิชา ต่อมามหาวิทยาลัยได้จัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยกรุงเทพขึ้น สาขาวิชานี้จึงย้ายไปสังกัดกับหน่วยงานใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541
ในแต่ละปี คณะบริหารธุรกิจเป็นคณะฯที่มีนักศึกษาสนใจสมัครสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อเป็นจำนวนมากการเปิดดำเนินการสอนสาขาวิชาและหลักสูตรใหม่จึงเกิดขึ้นพร้อมกับการปรับปรุงหลักสูตรเดิมให้ทันสมัยอยู่เสมอ
ปี พ.ศ. 2532 ทางคณะบริหารธุรกิจได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่องสาขาวิชาการจัดการและสาขาวิชาการตลาดขึ้น โดยมีแนวความคิดว่าการขยายหลักสูตรนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาส ในการศึกษาให้แก่ผู้สนใจที่จะเพิ่มพูนคุณวุฒิด้วยการศึกษาต่อ นอกจากนี้ เมื่อธุรกิจได้นำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาผสมผสานในการบริหารงาน
ปี พ.ศ. 2541 คณะบริหารธุรกิจจึงได้เปิดสอนสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจภาคปกติเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งสาขาวิชา และ ปี พ.ศ. 2542 ได้เปิดสอนหลักสูตรสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจต่อเนื่อง
ปี พ.ศ. 2547 คณะบริหารธุรกิจได้เปิดสอนหลักสูตรสาขาวิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ ภาคปกติ และเริ่มเปิดสอนหลักสูตรสาขาวิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2549
ปี พ.ศ. 2552 ตามนโยบายของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) และการสร้างวิญญาณความเป็นเจ้าของธุรกิจ (Entrepreneurial Spirit) ให้กับนักศึกษา ดังนั้นภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ จึงมีแนวคิดการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว โดยให้นักศึกษาได้เข้าร่วมในโครงการ Creative Entrepreneurial Marketing Project (CEMP) และร่วมมือกับภาควิชาการเงิน ภาควิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ ภาควิชาโฆษณา คณะนิเทศศาสตร์ และภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จัดให้มีการเรียนการสอนในลักษณะ Learning by doing ที่ให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริงโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ธุรกิจของตนเองโดยการศึกษาธุรกิจ วางแผนการตลาด ออกแบบสินค้า และบรรจุภัณฑ์ สร้างตรายี่ห้อสินค้าวางแผนสื่อโฆษณา และการทำการตลาดรูปแบบใหม่ๆ เพื่อฝึกให้นักศึกษามีความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเป็นเจ้าของธุรกิจในอนาคต
ปี พ.ศ. 2553 คณะบริหารธุรกิจได้เปิดสอนหลักสูตรสาขาวิชาการตลาด ภาคบ่าย (เน้นกลุ่มวิชาเอกเลือกทางด้านธุรกิจบริการและบันเทิง)
ปี พ.ศ. 2554 คณะบริหารธุรกิจได้เปิดสอนหลักสูตรเพิ่มเติมอีกหลายสาขา ดังนี้ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ ภาคบ่าย (เน้นกลุ่มวิชาเอกเลือกทางด้านการเป็นผู้ประกอบการและการจัดการระดับโลก) สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ ภาคปกติและภาคบ่าย และมีการเปลี่ยนชื่อหลักสูตรสาขาวิชาการจัดการธุรกิจสมัยใหม่ เป็น สาขาวิชาการจัดการ โดยมีการบริหารจัดการหลักสูตรร่วมกับสาขาวิชาการบริหารองค์กรและทรัพยากรมนุษย์
ปัจจุบันคณะบริหารธุรกิจแบ่งการบริหารงานออกเป็น 6 สาขาวิชา มีสายงานบังคับบัญชา ประกอบด้วย คณบดี รองคณบดี ผู้ช่วยคณบดี และหัวหน้าภาควิชา ได้เปิดสอนสาขาวิชาต่างๆ ตามลำดับ ดังนี้
- สาขาวิชาการเงิน
- สาขาวิชาการตลาด
- สาขาวิชาการจัดการ
- กลุ่มวิชาเอกการจัดการธุรกิจสมัยใหม่
- กลุ่มวิชาเอกการจัดการทรัพยากรมนุษย์
- สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
- สาขาวิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ
- สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์
ภายใต้แนวทางการทำงานของคณาจารย์ที่มีส่วนร่วมในการร่วมกันคิดร่วมกันทำโดยมีการประชุมกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนานักศึกษานั้น ไม่เพียงแต่การจัดโครงการฝึกงานภาคฤดูร้อนให้กับนักศึกษาเป็นประจำทุกปีเท่านั้น แต่นักศึกษายังได้มีส่วนร่วมในการจัดทำกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การจัดสัมมนาทางวิชาการ การช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่าง ๆ การจัดทำและประกวดแผนการตลาด การจัดทำและประกวดแผนธุรกิจ การไปทัศนศึกษาทั้งในและต่างประเทศ และการจัดงานการตลาด (Marketing Fair) เป็นต้น กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกฝนทั้งทางด้านกำลังกายกำลังใจและกำลังสมองเป็นการเตรียมนักศึกษาให้พร้อมก่อนที่จะสำเร็จการศึกษา
School Emblem and Colors
ปณิธานและพันธกิจ
ปณิธาน
คณะบริหารธุรกิจมุ่งพัฒนาบัณฑิตให้เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ มีความรู้ มีคุณธรรม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
วิสัยทัศน์
เป็นคณะบริหารธุรกิจชั้นนำที่บ่มเพาะนักศึกษาให้เป็นนักบริหารมืออาชีพที่มีทักษะและความพร้อมต่อการทำงานในยุคศตวรรษที่ 21 เป็นผู้นำที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความเป็นสากล และเข้าใจบริบททางเศรษฐกิจและสังคมแบบเอเชีย
พันธกิจ
- เป็นผู้ให้บริการด้านการเรียนการสอนที่สร้างสรรค์ในสาขาบริหารธุรกิจ
- เป็นผู้ให้บริการด้านการผลิตผลงานวิจัยและผลงานวิชาการอื่นในสาขาบริหารธุรกิจ
- เป็นผู้ให้บริการวิชาการแก่สังคมในสาขาบริหารธุรกิจ
- เป็นผู้สร้างและพัฒนาบัณฑิตที่มีความรู้ มีความคิดสร้างสรรค์ มีคุณธรรมและจริยธรรม
วัตถุประสงค์
- เพื่อสร้างและพัฒนานักศึกษาให้มีความคิดสร้างสรรค์
- เพื่อพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของสังคม
- เพื่อส่งเสริมให้คณาจารย์เพิ่มพูนความรู้โดยการเข้ารับการอบรมสัมมนาและศึกษาดูงาน
- เพื่อสนับสนุนให้คณาจารย์ทำวิจัยและผลิตผลงานทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง
- เพื่อให้บริการทางวิชาการโดยการจัดอบรม สัมมนา และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
- เพื่อสร้างความร่วมมือกับองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และชุมชน ในการให้บริการทางสังคม
- เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้นักศึกษาเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม
- เพื่อปลูกฝังนักศึกษาให้เห็นความสำคัญและคุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรมไทย
- เพื่อสร้างและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในให้มีประสิทธิภาพ