มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตระหนักว่าความรู้ทางด้านศิลปะและการออกแบบจะมีส่วนช่วยส่งเสริมความเจริญทางด้านจิตใจของประชาชนในชาติให้พัฒนาควบคู่ไปกับความเจริญเติบโตในทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  จึงมีแนวคิดที่จะเปิดสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวกับศิลปะและการออกแบบ โดยในครั้งแรกได้เสนอขอใช้ชื่อว่า “คณะมัณฑนศิลป์”   แต่ได้ทำการเปลี่ยนเป็น “คณะศิลปกรรมศาสตร์” ตามคำแนะนำของทบวงมหาวิทยาลัย ประกอบกับเหตุผลที่ว่าการเปลี่ยนชื่อจะทำให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้หลากหลายและเหมาะสมกับพัฒนาการในศาสตร์ด้านศิลปกรรม  

คณะศิลปกรรมศาสตร์ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นคณะลำดับที่ 8 ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  โดยเปิดหลักสูตรปริญญาตรีศิลปบัณฑิต 2  สาขาวิชาคือ สาขาวิชาการออกแบบตกแต่งภายใน และสาขาการออกแบบนิเทศศิลป์  ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการจากรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย (นายทวิช  กลิ่นประทุม) ตามอำนาจในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมการศึกษาเอกชน พ.ศ.2522 ให้ไว้ ณ วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2532  คณะฯจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันก่อตั้งคณะฯ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

คณะฯ เริ่มต้นจัดการเรียนการสอนขึ้น ณ อาคาร 4 และอาคารฝึกงาน ภายในวิทยาเขตรังสิต (ปัจจุบันเป็นอาคาร A5) อาคาร B2 วิทยาเขตรังสิต  และได้ปรับการใช้พื้นที่สำนักงานฝ่ายอาคารสถานที่ วิทยาเขตรังสิต เป็นอาคาร B3 ใช้เป็นห้องปฏิบัติการสอนวิชาพื้นฐาน ห้องปฏิบัติการงานไม้ งานจิตรกรรม และภาพพิมพ์ในเวลาต่อมา

ปีการศึกษา 2535  นับเป็นปีแรกที่มีบัณฑิตของคณะฯ สำเร็จการศึกษาเพื่อออกไปรับใช้สังคม ซึ่งได้รับการยอมรับจากวงการวิชาชีพต่างๆ เป็นอย่างดี จากนั้นในปีการศึกษา 2538  คณะฯ ได้ทำการปรับหลักสูตรให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในขณะนั้น รวมทั้งได้ขออนุมัติเปิดสอนอีก 1  สาขาวิชาคือ  สาขาวิชาทัศนศิลป์  ซึ่งมีบัณฑิตรุ่นแรกในปีการศึกษา  2541  และได้ดำเนินการขออนุมัติเปิดหลักสูตรสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทออีกสาขาหนึ่งในปีการศึกษา 2547 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของแฟชั่นในภูมิภาค จากนั้นในปีการศึกษา 2555 จึงได้เปิดสอนในสาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อรองรับการสร้างนักออกแบบผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ที่จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาประเทศ

พร้อมกันนี้ในปีการศึกษา 2555 มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้เปิดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ขึ้น สาขาการออกแบบตกแต่งภายในจึงได้ย้ายไปสังกัดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

คณะศิลปกรรมศาสตร์ได้มีการบริหารงานโดยคณบดี เรียงตามลำดับดังนี้

ปีพ.ศ. 2532-33 อาจารย์ยงสฤษดิ์ จารุบูรณะ

ปีพ.ศ. 2534-48 รองศาสตราจารย์สุมิตรา ศรีวิบูลย์

ปีพ.ศ. 2548-60  ผู้ช่วยศาสตราจารย์สรรเสริญ มิลินทสูต 

ปีพ.ศ. 2560-64 ผศ.ดร.ปิยลักษณ์ เบญจดล

ปีพ.ศ. 2564-ปัจจุบัน ดร.ภัทรวุฒิ ทรัพย์เย็น

โดยได้บริหารงานในแนวคิดที่ว่าการสร้างสรรค์ศิลปกรรมเป็นการพัฒนาชาติ  คณะศิลปกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยกรุงเทพ  มุ่งมั่นที่จะเป็นสถาบันการศึกษาทางศิลปกรรมชั้นนำที่มีมาตรฐานทางวิชาการในระดับสากล เป็นศูนย์รวมการสร้างสรรค์ การวิจัยและการสร้างบัณฑิตให้เป็นผู้ที่มีความรู้ในแบบองค์รวม มีคุณธรรม จริยธรรม อันจะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข

สีประจำคณะ : ชมพูกลีบบัว

ตราสัญลักษณ์และสีประจำคณะ

ตราสัญลักษณ์
สีประจำคณะ
#c42455 RGB: 196 36 85 HEX: #c42455
ปณิธานและพันธกิจ

ปณิธานและพันธกิจ
คณะศิลปกรรมศาสตร์เป็นแหล่งความรู้ที่บูรณาการองค์ความรู้ต่างๆเข้ากับองค์ความรู้ด้านศิลปะและการออกแบบ โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ โดยปลูกฝังให้นักศึกษาเข้าใจคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม มีจริยธรรม รับผิดชอบต่อสังคม และมีศักยภาพที่สามารถแข่งขันได้ในระดับประเทศและระดับนานาชาติ


คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มุ่งมั่นที่จะเป็นสถาบันการศึกษาทางศิลปกรรมชั้นนำที่มีมาตรฐานทางวิชาการในระดับสากล เป็นศูนย์รวมการสร้างสรรค์ การวิจัยและการสร้างบัณฑิตให้เป็นผู้ที่มีความรู้ในแบบองค์รวมและมีคุณธรรมจริยธรรม อันจะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข


วิสัยทัศน์
การสร้างสรรค์ศิลปกรรมเป็นการพัฒนาชาติ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มุ่งมั่นที่จะเป็นสถาบันการศึกษาทางศิลปกรรมชั้นนำที่มีมาตรฐานทางวิชาการในระดับสากล เป็นศูนย์รวมการสร้างสรรค์ การวิจัย และการสร้างบัณฑิตให้เป็นผู้ที่มีความรู้ในแบบองค์รวม มีคุณธรรมจริยธรรม อันจะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข


พันธกิจ
1. พัฒนาหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอนให้มีความหลากหลาย ทันสมัย เป็นสากล สนับสนุนการมีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ เน้นการสร้างและเชื่อมโยงความรู้แบบองค์รวมความสามารถในการสื่อสารผ่านสื่อทางศิลปกรรมที่กว้างขวางรวมไปถึง การพูด การเขียน ที่สอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และส่งเสริมให้นักศึกษามีจิตวิญญาณการเป็นผู้ประกอบการ
2. สร้างและพัฒนานักสร้างสรรค์และนักวิจัย รวมทั้งส่งเสริมการผลิตผลงานให้ได้คุณภาพระดับ
สากล เพื่อเป็นศูนย์รวมด้านการสร้างสรรค์และการวิจัย
3. พัฒนาปัจจัยเกื้อหนุนต่อกระบวนการเรียนรู้ การสร้างสรรค์และการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ระบบเทคโนโลยี สารสนเทศและเทคโนโลยีอื่น ๆ พร้อมทั้งกระตุ้นให้คณาจารย์นำมาใช้ในการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
4. ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย สามารถแข่งขันได้
5. ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจและชุมชนให้
กว้างขวางยิ่งขึ้น
6. ขยายความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาและองค์กรชั้นนำทั้งในประเทศและ
ต่างประเทศเพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน
7. สืบสานพัฒนาและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย

หลักสูตรและสาขาวิชาที่เปิดสอน
คณะศิลปกรรมศาสตร์ได้ปรับปรุงหลักสูตรและเปิดสอนทั้งหมด 4 หลักสูตร ดังนี้

  1. สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์
  2. สาขาวิชาทัศนศิลป์
  3. สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่น
  4. สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์
Cosmetic Image Cosmetic Image
การสมัครเรียน
คณะศิลปกรรมศาสตร์