Featured Stories
School of Business Administration — Featured Stories — 1 ใน 1000 เด็กบริหาร สอบผ่าน IP License “นักวางแผนการเงิน”
ขอแสดงความยินดีกับ นายนวิน ประกฤติกรชัย (นิว) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจ หลักสูตรการวางแผนการเงินและการลงทุน (BUFIP) สอบได้ใบอนุญาต IP License โดยสอบผ่านใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน IC ทั้ง 3 ประเภทและสอบผ่านใบอนุญาตวิชาชีพนักวางแผนการเงิน (Certified Financial Planner) CFP Module 1 และ CFP Module 2 ทำให้นิวสามารถขึ้นทะเบียนเป็น ที่ปรึกษาการเงิน (Associate Financial Planner Thailand, AFPT™) ที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพจากสมาคมนักวางแผนการเงิน (TFPA) ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยมีเพียงแค่ประมาณหนึ่งพันกว่าคนเท่านั้นและสามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้วางแผนการลงทุน (Investment Planner) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้
หนังสือเล่มเดียว พาบินข้ามประเทศมาเรียนที่ BU
“หลังเรียนจบ ม.6 ผมบินไปเรียนภาษาที่จีนอยู่ 3 ปี ครับ ช่วงปิดเทอมตอนอยู่ที่นั่นบังเอิญได้ไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเงินเล่มนึง พอได้อ่านแล้วรู้สึกสนใจขึ้นมา อยากที่จะรู้มากกว่านี้ ผมเลยกลับไปหาข้อมูลว่ามีมหาวิทยาลัยไหนในไทยที่เปิดสอนเกี่ยวกับการเงินบ้าง แล้วเจอว่าที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพเปิดสอน หลักสูตรการวางแผนการเงินและการลงทุน ผมเลยตัดสินใจหยุดเรียนที่จีนแล้วกลับมาเรียนด้านนี้ครับ”
IP License คืออะไร
“IP License คือ ผู้ที่ให้คำแนะนำการลงทุนแก่นักลงทุน สามารถวางแผนประกอบการให้คำแนะนำการลงทุนแก่นักลงทุนที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งการได้ใบอนุญาต IP License ต้องสอบผ่านใบอนุญาต IC (Investment Consultant) แบ่งเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารทั่วไปและกองทุนรวม (P1) ตราสารหนี้ (P2) และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (P3) และใบอนุญาต CFP (Certified Financial Planner) หลักสูตรนักวางแผนทางการเงินโดยตรง โดยแบ่งออกเป็น 6 Module ซึ่งการขึ้นเป็น IP License นั้นจะต้องสอบ IC ตั้งแต่ P1-P3 และ CFP Module ที่ 1 และ 2 ให้ผ่านครับ”
เพราะชอบ จึงไม่มีคำว่ายาก
“สำหรับผมไม่ได้คิดว่าเรื่องการเงิน การลงทุนเป็นเรื่องยากเลยครับ เพราะเป็นสิ่งที่เราชอบที่เราสนใจ เลยไม่รู้สึกว่าต้องใช้ความพยายามที่จะเรียนรู้ ไม่ได้รู้สึกเหนื่อยเลย เหมือนกับเวลาที่เราได้ดูหนัง ดูซีรีย์ ผมสนุกไปกับมันมากๆครับ แต่การเตรียมตัวสอบก็เป็นเรื่องสำคัญ ผมจะศึกษาอ่านเอกสารที่เรียนมาบวกกับทางหลักสูตรจะมี Course ช่วยติวให้ มีข้อสอบชุดเก่าๆให้เราได้ลองทำก่อนสอบจริง ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ผมได้มากก่อนที่จะสอบครับ”
“นักวางแผนการเงิน” สำหรับนิวคือ?
“สำหรับผม นักวางแผนการเงิน ไม่ได้หมายถึงลงทุนแล้วทำกำไรให้สูงที่สุด แต่นักวางแผนการเงิน ต้องดูว่าเป้าหมายของลูกค้าว่าต้องการอะไรในระยะยาว มองถึงความเสี่ยงที่ลูกค้าจะรับได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าต้องเป็นคนมีเงินเท่านั้นที่ทำได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว การวางแผนการเงินนั้น มีความจำเป็นต่อทุกๆ คนครับ”
เคล็ดลับง่ายๆวางแผนการเงินด้วยตัวเอง
“ง่ายที่สุด คือให้สำรวจรายรับ-รายจ่ายของตัวเอง รู้จักทำบัญชีเพื่อให้เรารู้ว่าเรามีรายจ่ายอะไรบ้าง จะได้รู้ว่าเราจ่ายไปเท่าไหร่ ลดทอนค่าใช้จ่ายอะไรได้บ้าง เพื่อจะได้มีเงินเหลือ สำหรับการเก็บออมและการลงทุน ที่สำคัญคือต้องมี Passion ว่าเราต้องการอะไรในอนาคตเพื่อทำให้เราไปถึงจุดหมายของเราเอง”
เส้นทางของนิวในอนาคต
“ผมอยากเป็นนักวางแผนการเงินมืออาชีพ ปัจจุบันผมกำลังฝึกงานในสายนี้ ซึ่งงานที่ได้รับมอบหมายส่วนใหญ่จะทำเบื้องหลังเป็นหลัก อุปสรรคแรกสำหรับผม คือการหาลูกค้าคนแรก เราจะเข้าหาลูกค้าอย่างไร จะพูดกับลูกค้าอย่างไร เป็นสิ่งที่รอผมอยู่ข้างหน้าครับ แม้ในตอนนี้ผมยังไม่ได้เจอกับลูกค้าจริง แต่ผมเองได้มีโอกาสแนะนำและเข้าไปดูแลญาติ ในการจัด Port เพื่อการเกษียณ ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมานั้น เขาพอใจมากๆ ครับ”
ฝากถึงน้องๆที่สนใจจะทำงานทางสายงานด้านนี้
“ขอให้เตรียมใจให้พร้อม สายงานด้านนี้ถือว่าเป็นงานที่ท้าทายมากๆ และเป็นสายงานที่ค่อนข้างใหม่ในไทย แต่ก็เป็นข้อดีของเรา เพราะถือเป็นตลาดงานใหม่ คู่แข่งของเรายังไม่เยอะ ยังมีโอกาสในสายงานนี้อีกมากครับ”