Featured Stories
ข่าวสารและบทความ — สถาปัตยกรรมแห่งการคืนโอกาส: นิทรรศการ 'Walls to Welcome' เปิดมุมมองใหม่ในการออกแบบสถานคุมขังภายหลังพ้นโทษ
สถาปัตยกรรมแห่งการคืนโอกาส: นิทรรศการ 'Walls to Welcome'
เปิดมุมมองใหม่ในการออกแบบ
สถานคุมขังภายหลังพ้นโทษ

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกับสถาบันยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ภายใต้การสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทย บ้านและสวน ศูนย์วิจัยและสร้างสรรค์งานออกแบบ คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสภาพแวดล้อมสรรค์สร้าง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และตั้งต้นดี Restart Academy เปิดตัวนิทรรศการสร้างสรรค์ "Walls to Welcome" ออกแบบสถานคุมขังภายหลังพ้นโทษ ที่สร้างสมดุลระหว่างความปลอดภัยของสังคมและการคืนโอกาสให้ผู้พ้นโทษ ผ่านกระบวนการร่วมออกแบบกับผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งนิทรรศการนี้แสดงแนวคิด 5 รูปแบบของสถานคุมขังภายหลังพ้นโทษ เพื่อศึกษาว่าพื้นที่สามารถฟื้นฟูและสนับสนุนการปรับตัว ของผู้พ้นโทษให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างไร โดยสร้างสรรค์ “Walls” กำแพงแห่งความปลอดภัย ให้เป็น “Welcome” เพื่อเพิ่มโอกาสและการยอมรับ ท้าทายแนวคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับสถานคุมขัง โดยนำเสนอการออกแบบสถานคุมขังสำหรับผู้พ้นโทษที่สร้างสมดุลระหว่างความปลอดภัยของสังคมและการสร้างโอกาสใหม่ให้ผู้ที่กำลังก้าวกลับสู่สังคม


นิทรรศการนำเสนอ 50 ผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมของนักศึกษา โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มประกอบด้วย

1. Area 13: Reimagined สถานควบคุม JSOC เรือนจำกลางคลองเปรม พื้นที่ควบคุมความปลอดภัย ที่ได้รับการออกแบบด้วยการเปลี่ยนมุมมองและสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการบำบัดและฟื้นฟู เพื่อความพร้อมในการกลับสู่สังคม

2. CBT คลองเปรม สถานฟื้นฟูผู้พ้นโทษจิตเวช โรงพยาบาลราชทัณฑ์ พื้นที่ที่ให้การดูแลด้วยความเข้าใจ จากหมอ ครอบครัว คนใกล้ชิด เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจและศักยภาพในการใช้ชีวิต

3. คืนคนดีสู่สังคม สถานฝึกอาชีพเกษตร ปศุสัตว์ เขาไม้แก้ว ระยอง พื้นที่ที่ส่งเสริมการฝึกอาชีพเกษตร ปศุสัตว์ เชื่อมโยงกับธรรมชาติเพื่อการบำบัดฟื้นฟู

4. บ้านระยะผ่าน สถานฟื้นฟูการอยู่ร่วมกันในชุมชนเมือง บางแพรก ใกล้เรือนจำบางขวาง พื้นที่การทดลองอยู่ร่วมกันระหว่างผู้พ้นโทษและชุมชน เพื่อบำบัดการควบคุมตนเองจากสิ่งเร้า

5. บ้านกึ่งวิถี ปูลา รายอ ศูนย์ชุมชนประมง นราธิวาส พื้นที่ที่เอื้อต่อการพึ่งพาตนเอง การลดความหวาดระแวงผ่านการมีส่วนร่วมกับชุมชน

ภายในงานได้รับเกียรติจาก เอกอัครราชทูต อดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน โดยมีแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมชมงานจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น ศ.(พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ประธานกรรมการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ รองผู้อำนวยการสถาบันฯ คุณโกมล พรมเพ็ง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม คุณนวรัตน์ นาควิจิตร หัวหน้ากลุ่มพัฒนางานด้านการต่างประเทศ กองนโยบายและประสานแผนกระบวนการยุติธรรม ดร.ขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม คุณวลัยลักษณ์ ชุ่มชื่น ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง ดร.จรัสสา การเกษตร ผู้อำนวยการส่วนประสานราชการและส่งเสริมการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง กรมราชทัณฑ์ และท่านผู้ปกครองของนักศึกษากว่า 40 ท่าน



ผลโหวตของผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการทั้งหมดนำมาสู่การคัดเลือกผลงานดีเด่น 5 ผลงาน

ขอแสดงความยินดีกับนาย ภัทรพล เวชอุบล นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รับรางวัล Excellent Design Award และเงินทุนการศึกษา 10,000 บาท
และขอแสดงความยินดีกับ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพรับรางวัล Best Design Award และเงินทุนการศึกษาคนละ 5,000 บาท

น.ส. พัชรินทร์ แก่นสุวรรณ

นาย วีรพงค์ พรหมวงศ์

น.ส. อาลยา มาร์ติเนทโต

นาย วรกฤศ แก้วอลงกรณ์

สำหรับนิทรรศการ "Walls to Welcome" ไม่เพียงแค่นำเสนอแนวคิดทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ แต่ยังเปิดประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการสร้างระบบยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพและคำนึงถึงมนุษยธรรม โดยมุ่งเน้นการคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืน


นิทรรศการนี้ยังเป็นการสานต่อแนวคิดการตระหนักรู้ถึงต้นทางปัญหาคอร์รัปชันสู่ปลายทางของการออกแบบทางออก ซึ่งโครงการประกวดภาพยนตร์สั้นภายใต้โครงการ Thailand งานแฟร์ เพื่อความแฟร์: Rule of Law Fair: Investing in the RoL for a Sustainable Future ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาผ่านวลีที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” หากนิทรรศการได้นำเสนอทางออกเชิงระบบที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง โดยอาศัยการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการคืนคนดีสู่สังคม โดยมีเป้าหมายร่วมของหนังสั้นและนิทรรศการ คือ ชวนให้เกิดการฉุกคิดถึงวงจรความอยุติธรรมและลดการกลับเข้าสู่ระบบ (recidivism) การส่งเสริมหลักนิติธรรม (Rule of Law) และลดปัญหาการทุจริตและความอยุติธรรมในระบบ ด้วยการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าใจและมีส่วนร่วม นิทรรศการ “Walls to Welcome” ขยายผลจากโครงการหนังสั้น โดยชวนสังคมมองไปอีกขั้น หลังจากกระบวนการยุติธรรมจบลง เราจะออกแบบพื้นที่ในสังคมอย่างไร เพื่อไม่ให้ใครต้องหวนกลับเข้าสู่คุกอีก


แห่งการเรียนรู้
ไปกับ
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ให้เราช่วยเลือกหลักสูตร คณะ สาขาหรือต้องการติดต่อกับเรา
ข้อมูลการศึกษา
ข้อมูลการสมัคร
ติดต่อมหาวิทยาลัย