Featured Stories
ข่าวสารและบทความ — อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ฯ ปรุงเมนูท้องถิ่น “รสชาติ…ที่หายไป"อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ฯ ปรุงเมนูท้องถิ่น “รสชาติ…ที่หายไป"
ขอแสดงความยินดีกับอาจารย์สุถี เสริฐศรี อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการการโรงแรม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว ผู้โชว์ฝีมือผ่านเมนู “ต้มกะทิสายบัวปลาทูแม่กลอง” เป็นผู้ชนะการโหวตเป็นอันดับ 1 ของจังหวัดสมุทรสงคราม ในโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปี 2567 ในการชูรสชาติวัตถุดิบท้องถิ่นได้อย่างโดดเด่น จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับ 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการแต่ละจังหวัดคัดเลือกเมนูอาหารท้องถิ่น ผ่านเกณฑ์การตัดสิน เช่น วัตถุดิบท้องถิ่นที่สำคัญของอาหาร การพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่า เมนูที่พร้อมครบด้วยองค์ประกอบด้านโภชนาการ รวมถึงการอนุรักษ์ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ พืชพรรณนานาชนิดของท้องถิ่น
เมนูที่ชวนให้คิดถึง
“เมนูต้มกะทิสายบัวปลาทูแม่กลอง เป็นเมนูที่เราคิดถึงอันดับแรกเมื่อพูดถึง รสชาติ…ที่หายไป เมนูนี้ชวนให้คิดถึงรสชาติกับชีวิตของเราและหากินที่ไหนไม่ได้ เหมือนฝีมือของคุณยายเราที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จนมาถึงรุ่นของเราที่ได้นำกลับโชว์ฝีมืออีกครั้ง รสชาตินี้ยังคงไม่หายไปไหน ยังคงอยู่ให้หายคิดถึง เพราะเมื่อใครชิมก็ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นรสชาติที่เหมือนคุณยายทำ รสชาติดั้งเดิมและยังคงสืบสานต่อไปเรื่อยๆ”
ชูเอกลักษณ์ความสมบูรณ์ในท้องถิ่น
“อาหารเมนูนี้เป็นเมนูที่นิยมทำกินกันในช่วงปลายฝนต้นหนาว เป็นช่วงฤดูกาลที่เหมาะสมเพราะวัตถุดิบจะอุดมสมบูรณ์มาก ในบรรยากาศช่วงฤดูหนาว ได้กินซุปกะทิอุ่นๆ ซดคล่องคอ รสชาติไม่จี๊ดจ๊าดบาดคอ ได้ความรู้สึกกลมกล่อมละมุนละมัย เมนูที่กินได้ทั้งครอบครัวตั้งแต่ลูกเด็กเล็กแดง ยันคนแก่คนเฒ่า โดยส่วนผสมจะประกอบด้วย รสมันกะทิ ที่ไม่ใช่กะทิกล่องแต่ต้องเป็นกะทิคั้นสด นํ้าตาลก็ต้องน้ำตาลมะพร้าว ที่หาได้จากสวนที่คนในพื้นที่ปลูกกันเอง และปลาทูแม่กลองที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นราชาแห่งปลาทู หน้างอ คอหักซิกเนเจอร์ของแม่กลอง เนื้อจะเยอะ รสชาติมัน ต้มเคี่ยวทำแกงปรุงออกมาอร่อย ยิ่งได้เกลือสมุทร นํ้าปลาดี และตบด้วยน้ำมะขามเปียก หรือมะดันสดในฤดูกาล เมนูนี้ครบทุกรสชาติเป็นเมนูที่ทุกบ้านสามารถทำกินได้ และชวนให้มาร่วมกันกินทั้งครอบครัว เพิ่มอรรถรสความอร่อยเข้าไปอีก”
รางวัลการันตีฝีมือที่ทำด้วยหัวใจ
“ในการเข้าร่วมโครงการนี้เรามีความตั้งใจมาก ตั้งแต่คิดเมนูอาหารที่ให้ตรงโจทย์ ยังรวมถึงความใส่ใจที่ต้องนำวัตถุดิบ พืชพรรณสวนครัวทุกองค์ประกอบที่มาจากท้องถิ่นจริงๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ความเป็น GI -Geographical Indication เครื่องหมายที่แสดงให้เห็นถึงการใช้วัตถุดิบที่มาจากผลผลิตในพื้นที่ที่มีคุณภาพและแหล่งที่มาให้มากที่สุดและตอบโจทย์ 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่นของประเทศไทย”
ความเก่งที่ไม่เคยหวง พร้อมแชร์แบ่งปันทุกเคล็ดไม่ลับ อ.สุถี ถ่ายทอดทุกกระบวนท่าการทำอาหาร รวมถึงสูตรการคัดสรรวัตถุดิบเพื่อชูรสชาติอาหาร เล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษรรวบรวมเป็นเล่มผ่านหนังสือ โดยเร็วๆ นี้จะเป็นการวางจำหน่ายแจกฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ต้องห้ามพลาดหนังสือเล่มนี้ให้เป็นเล่มโปรดที่ไม่มีไม่ได้
แห่งการเรียนรู้
ไปกับ
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ให้เราช่วยเลือกหลักสูตร คณะ สาขาหรือต้องการติดต่อกับเรา
ข้อมูลการศึกษา
ข้อมูลการสมัคร
ติดต่อมหาวิทยาลัย