Featured Stories
คณะวิศวกรรมศาสตร์ — ข่าวสารและบทความ — Joint Degree ร่วมมือกันผลิตวิศวกร AI รุ่นใหม่ หัวใจ EntrepreneurJoint Degree ร่วมมือกันผลิตวิศวกร AI รุ่นใหม่ หัวใจ Entrepreneur
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยมี อาจารย์ภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นผู้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยกรุงเทพและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต รองอธิการบดีอาวุโสด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และรศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมเป็นพยาน
อาจารย์ภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ “การทำความร่วมมือที่เข้มแข็งครั้งนี้ เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสลงมือปฏิบัติจริง และเน้นความเป็นมืออาชีพ เพื่อพร้อมทำงานได้จริง เมื่อจบหลักสูตรสามารถกำหนดเส้นทางอาชีพ (Career path) พร้อมมีความรู้ใหม่ๆ จากการบูรณาการข้ามศาสตร์”
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มุ่งพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสร้างสรรค์งานวิจัย และนวัตกรรมสู่สังคมโลก ด้วยวิสัยทัศน์การเป็น The World Master of Innovation เพื่อแสดงศักยภาพด้านการวิจัยเชิงประยุกต์และนวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง”
รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง “ความร่วมมือนี้มีความสำคัญต่ออนาคตของการศึกษาเป็นการเชื่อมช่องว่างระหว่างความรู้ทางทฤษฎีและการประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัตินับเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาที่มีความสำคัญต่อความก้าวหน้าของระบบการศึกษาความร่วมมือนี้ทำให้มั่นใจได้ว่าหลักสูตรของเราสอดคล้องกับความต้องการแรงงานและทิศทางอุตสาหกรรมยุคใหม่”
ผศ.ดร.อรรยา สิงห์สงบ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ “หลักสูตรด้านการเป็นผู้ประกอบการ ม.กรุงเทพ ได้พัฒนาแนวคิดจาก Babson College เป็นสถาบันชั้นนำด้านผู้ประกอบการระดับโลก การจัดการเรียนการสอนโดยผู้เชี่ยวชาญ ผนวกกับความร่วมมือกับภาคธุรกิจ และการมีเครือข่ายกับ Acceleration Center ทั้งในและต่างประเทศ จะช่วยบ่มเพาะให้ผู้เรียนในหลักสูตรนี้ได้รับประสบการณ์จริง ซึ่งจะผลักดันให้บัณฑิตเป็น Engineer Entrepreneurship อย่างแท้จริง”
โปรแกรมปริญญาร่วมนี้ถือเป็น Role model ของการศึกษาแบบสหสาขาวิชาชีพ ที่ผสมผสานองค์ความรู้ที่เป็นจุดเเข็งของทั้งสองมหาวิทยาลัย เพื่อถ่ายทอดศาสตร์แห่งวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และการเป็นผู้ประกอบการ ที่เป็นทักษะสำคัญสู่การสร้างผู้นำที่เชี่ยวชาญด้าน AI ที่มีมุมมองและทักษะความเป็นผู้ประกอบกิจการ ซึ่งจะกลายเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ให้โตทันการแข่งขันและความต้องการของโลกธุรกิจ