Featured Stories
ข่าวสารและบทความ — เด็กศิลปกรรมฯ รับรางวัลออกแบบผลิตภัณฑ์ "ห่วงส่วนตัวเพื่อการเดินทาง"
ขอแสดงความยินดีกับนางสาวนภัสสร ภคปัญจพร (มิ้ว) นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้รับรางวัลชมเชย จากงาน Thailand Green Design Awards 2023 ประเภทที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต กลุ่มที่ 1 นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผลงานที่ออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้ชีวิตให้สะดวกสบายภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน
Thailand Green Design Awards 2023 เป็นการประกวดผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตหรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลทางการเกษตร วัสดุธรรมชาติและเศษวัสดุทางการเกษตรต่างๆ
Parasite ห่วงจับเพราะเป็นห่วง
“ผลงานของเราชื่อว่า Parasite เป็นอุปกรณ์ยึดเกาะสำหรับการเดินทางด้วยรถสาธารณะเพื่อรณรงค์ให้คนใช้รถสาธารณะรู้สึกถึงความสะอาดและปลอดภัย ถึงแม้ว่าคนจะเริ่มคุ้นเคยกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ผู้คนก็ยังคงกังวลเรื่องการสัมผัสอุปกรณ์สาธารณะในการเดินทาง ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จึงออกแบบผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ขึ้นมาที่มีหน้าตาเหมือนห่วงจับ สามารถพกติดตัวไปได้ทุกที่ เป็นของใช้ส่วนตัว ลดการสัมผัสหรือแพร่กระจายเชื้อโรคให้คนอื่น”
จุดเริ่มต้นของห่วงจับ Parasite
“มิ้วเป็นคนนึงที่ใช้รถโดยสารสาธารณะในการเดินทาง ซึ่งเราเห็นว่าห่วงที่เราจับเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค รู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่สบายใจที่จะจับ และยังพบว่าจำนวนห่วงจับไม่เพียงพอกับจำนวนผู้โดยสาร เมื่อรถเบรกกะทันหันอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งห่วงจับ Parasite ของเราสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพราะผู้คนจะรู้สึกว่าปลอดภัย ทั้งลดการสัมผัสเชื้อโรค และยังเพิ่มที่ยึดจับเวลาโดยสารรถสาธารณะ อีกทั้งช่วยส่งเสริมให้คนหันมาใช้รถสาธารณะเพิ่มขึ้น ลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดมลพิษที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์และสิ่งแวดล้อม”
Parasite ทำจากวัสดุเหลือใช้
“เราทำจากวัสดุเศษหนังที่ไม่ใช้แล้ว ออกแบบห่วงจับที่สามารถพกไปกับของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น พวงกุญแจ ที่ห้อยกระเป๋า โดยใช้วัสดุเป็นแผ่นกันลื่น เกาะพื้นผิวแน่นและยืดหยุ่นได้ดี เมื่อคล้องสายแม่เหล็กจะดูดติดกันเพื่อการใช้งานและดึงออกจากกันเมื่อใช้งานเสร็จแล้ว มีกลไกยึดติดกับกระจกหรือพื้นผิวเรียบด้วยตัวดูดสุญญากาศ”
นำความรู้ในห้องเรียนมาใช้ได้จริง
“ตอนนี้มิ้วเรียนปี 4 กำลังทำธีสิสเกี่ยวกับการแปรรูปไม้ยางมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ โดยศึกษาพบว่าต่างประเทศมีเทคนิคการเผาไม้สน นำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งสามารถนำเทคนิคมาใช้กับไม้ยางที่เป็นธุรกิจที่บ้านของเราได้ สามารถเพิ่มคุณค่าของไม้ยางหลังจากรีดน้ำยางหมด โดยนำความรู้ วิธีคิด Process ในการทำงานต่างๆ ที่ได้จากอาจารย์มาประยุกต์ใช้ ทำให้มองเห็นโลกที่กว้างขึ้น รู้ว่าตอนนี้สังคมต้องการอะไรและเราจะช่วยเหลือสังคมได้อย่างไรบ้าง”
“ขอบคุณอาจารย์ที่ปรึกษาที่ได้เปิดโอกาสให้เราเข้าร่วมงานในครั้งนี้ โดยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียน ให้เราได้ลงมือคิดและออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเอง ไม่คิดเลยว่า ห่วงเล็กๆ ของเราสามารถช่วยแก้ปัญหาในสังคมได้หลากหลายมิติ”
แห่งการเรียนรู้
ไปกับ
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ให้เราช่วยเลือกหลักสูตร คณะ สาขาหรือต้องการติดต่อกับเรา
ข้อมูลการศึกษา
ข้อมูลการสมัคร
ติดต่อมหาวิทยาลัย