Featured Stories
ข่าวสารและบทความ — 1 ใน 1000 เด็กบริหาร สอบผ่าน IP License “นักวางแผนการเงิน”
ขอแสดงความยินดีกับ นายนวิน ประกฤติกรชัย (นิว) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจ หลักสูตรการวางแผนการเงินและการลงทุน (BUFIP) สอบได้ใบอนุญาต IP License โดยสอบผ่านใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน IC ทั้ง 3 ประเภทและสอบผ่านใบอนุญาตวิชาชีพนักวางแผนการเงิน (Certified Financial Planner) CFP Module 1 และ CFP Module 2 ทำให้นิวสามารถขึ้นทะเบียนเป็น ที่ปรึกษาการเงิน (Associate Financial Planner Thailand, AFPT™) ที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพจากสมาคมนักวางแผนการเงิน (TFPA) ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยมีเพียงแค่ประมาณหนึ่งพันกว่าคนเท่านั้นและสามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้วางแผนการลงทุน (Investment Planner) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้
หนังสือเล่มเดียว พาบินข้ามประเทศมาเรียนที่ BU
“หลังเรียนจบ ม.6 ผมบินไปเรียนภาษาที่จีนอยู่ 3 ปี ครับ ช่วงปิดเทอมตอนอยู่ที่นั่นบังเอิญได้ไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเงินเล่มนึง พอได้อ่านแล้วรู้สึกสนใจขึ้นมา อยากที่จะรู้มากกว่านี้ ผมเลยกลับไปหาข้อมูลว่ามีมหาวิทยาลัยไหนในไทยที่เปิดสอนเกี่ยวกับการเงินบ้าง แล้วเจอว่าที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพเปิดสอน หลักสูตรการวางแผนการเงินและการลงทุน ผมเลยตัดสินใจหยุดเรียนที่จีนแล้วกลับมาเรียนด้านนี้ครับ”
IP License คืออะไร
“IP License คือ ผู้ที่ให้คำแนะนำการลงทุนแก่นักลงทุน สามารถวางแผนประกอบการให้คำแนะนำการลงทุนแก่นักลงทุนที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งการได้ใบอนุญาต IP License ต้องสอบผ่านใบอนุญาต IC (Investment Consultant) แบ่งเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารทั่วไปและกองทุนรวม (P1) ตราสารหนี้ (P2) และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (P3) และใบอนุญาต CFP (Certified Financial Planner) หลักสูตรนักวางแผนทางการเงินโดยตรง โดยแบ่งออกเป็น 6 Module ซึ่งการขึ้นเป็น IP License นั้นจะต้องสอบ IC ตั้งแต่ P1-P3 และ CFP Module ที่ 1 และ 2 ให้ผ่านครับ”
เพราะชอบ จึงไม่มีคำว่ายาก
“สำหรับผมไม่ได้คิดว่าเรื่องการเงิน การลงทุนเป็นเรื่องยากเลยครับ เพราะเป็นสิ่งที่เราชอบที่เราสนใจ เลยไม่รู้สึกว่าต้องใช้ความพยายามที่จะเรียนรู้ ไม่ได้รู้สึกเหนื่อยเลย เหมือนกับเวลาที่เราได้ดูหนัง ดูซีรีย์ ผมสนุกไปกับมันมากๆครับ แต่การเตรียมตัวสอบก็เป็นเรื่องสำคัญ ผมจะศึกษาอ่านเอกสารที่เรียนมาบวกกับทางหลักสูตรจะมี Course ช่วยติวให้ มีข้อสอบชุดเก่าๆให้เราได้ลองทำก่อนสอบจริง ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ผมได้มากก่อนที่จะสอบครับ”
“นักวางแผนการเงิน” สำหรับนิวคือ?
“สำหรับผม นักวางแผนการเงิน ไม่ได้หมายถึงลงทุนแล้วทำกำไรให้สูงที่สุด แต่นักวางแผนการเงิน ต้องดูว่าเป้าหมายของลูกค้าว่าต้องการอะไรในระยะยาว มองถึงความเสี่ยงที่ลูกค้าจะรับได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าต้องเป็นคนมีเงินเท่านั้นที่ทำได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว การวางแผนการเงินนั้น มีความจำเป็นต่อทุกๆ คนครับ”
เคล็ดลับง่ายๆวางแผนการเงินด้วยตัวเอง
“ง่ายที่สุด คือให้สำรวจรายรับ-รายจ่ายของตัวเอง รู้จักทำบัญชีเพื่อให้เรารู้ว่าเรามีรายจ่ายอะไรบ้าง จะได้รู้ว่าเราจ่ายไปเท่าไหร่ ลดทอนค่าใช้จ่ายอะไรได้บ้าง เพื่อจะได้มีเงินเหลือ สำหรับการเก็บออมและการลงทุน ที่สำคัญคือต้องมี Passion ว่าเราต้องการอะไรในอนาคตเพื่อทำให้เราไปถึงจุดหมายของเราเอง”
เส้นทางของนิวในอนาคต
“ผมอยากเป็นนักวางแผนการเงินมืออาชีพ ปัจจุบันผมกำลังฝึกงานในสายนี้ ซึ่งงานที่ได้รับมอบหมายส่วนใหญ่จะทำเบื้องหลังเป็นหลัก อุปสรรคแรกสำหรับผม คือการหาลูกค้าคนแรก เราจะเข้าหาลูกค้าอย่างไร จะพูดกับลูกค้าอย่างไร เป็นสิ่งที่รอผมอยู่ข้างหน้าครับ แม้ในตอนนี้ผมยังไม่ได้เจอกับลูกค้าจริง แต่ผมเองได้มีโอกาสแนะนำและเข้าไปดูแลญาติ ในการจัด Port เพื่อการเกษียณ ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมานั้น เขาพอใจมากๆ ครับ”
ฝากถึงน้องๆ ที่สนใจจะทำงานทางสายงานด้านนี้
“ขอให้เตรียมใจให้พร้อม สายงานด้านนี้ถือว่าเป็นงานที่ท้าทายมากๆ และเป็นสายงานที่ค่อนข้างใหม่ในไทย แต่ก็เป็นข้อดีของเรา เพราะถือเป็นตลาดงานใหม่ คู่แข่งของเรายังไม่เยอะ ยังมีโอกาสในสายงานนี้อีกมากครับ”
แห่งการเรียนรู้
ไปกับ
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ให้เราช่วยเลือกหลักสูตร คณะ สาขาหรือต้องการติดต่อกับเรา
ข้อมูลการศึกษา
ข้อมูลการสมัคร
ติดต่อมหาวิทยาลัย