Featured Stories
ข่าวสารและบทความ — สร้างสกิลให้มีภูมิครีเอทเกมเล่นเพื่ออยู่รอดโดยทีมเด็กไอที ม.กรุงเทพ
เมื่อเรื่องของเกมไม่ได้เป็นเพียงการเล่นเพื่อความสนุกเพียงอย่างเดียว แต่เกมจะต้องเป็นสื่อการเรียนรู้ที่เสริมสกิลในเรื่องของการอยู่รอด นับเป็นโจทย์ที่ชาเลนจ์ความท้าทายของกลุ่มนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม ม.กรุงเทพ ที่ร่วมรับโจทย์ในโครงการอยู่รอดวิทยา (School of Survival) THE FIRST GAME THAT CAN SAVE KID’S LIFE ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง ศูนย์นวัตกรรมเฉพาะทาง ม.กรุงเทพ กับ บริษัท เดนท์สุ วัน (กรุงเทพฯ) จำกัด ที่ต้องการสร้างสรรค์เกมผ่านแพลตฟอร์มเกมโรบล็อกซ์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อฝึกทักษะและการตอบสนองในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มเกมที่ใช้กลยุทธ์แบบ Serious Game หรือการใช้เกมเป็นเครื่องมือในการศึกษาและการฝึกอบรม พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้ทดลองและหัดตัดสินใจในสถานการณ์จำลองที่เกิดขึ้นจริง ตั้งแต่การหนีภัย การหาที่ซ่อน ไปจนถึงการป้องกันตัวเองเมื่อจำเป็นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อต้องการให้ผู้เล่นเกิดการเรียนรู้การเอาตัวรอดที่แฝงไปด้วยทักษะมากมายให้ได้ฝึกฝน
ชวนมาพูดคุยกับ 3 หนุ่มผู้อยู่เบื้องหลังความสนุกที่ทำให้เกิดเป็นเกมอยู่รอดวิทยา ขอเริ่มต้นที่คนแรกพี่ลูเอส นายธนปัญญา เพ็ญสุวรรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 “ผมเข้ามารับโจทย์นี้ด้วยความที่มีทักษะความถนัดของการขึ้นโมเดลที่ประกอบเกม แต่เมื่อวันนึงต้องพลิกบทบาทมาเป็นผู้ดีไซน์เกม เพื่อใส่ลูกเล่นความสนุกให้เกมมีการแฝงการเรียนรู้เข้าไปด้วย ผมจึงต้องทำการบ้านศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมให้ได้คำตอบที่ถูกต้องและเป็นการเรียนรู้ที่สามารถทำได้หลากหลาย โดยทุกคำตอบได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยาที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งเป็นหลักการที่นำมาผสมผสานการดีไซน์ของเราให้ลงตัวและเกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ความสนุกของเกมนี้คือกลุ่มเป้าหมายหลักต้องการให้น้องวัยชั้นประถมถึงมัธยมต้นได้เล่นเกม สำหรับผมเกมนี้ใครก็ได้เล่นได้หมดเป็นเกมน้ำดีที่ยิ่งเล่นยิ่งได้ทักษะมากขึ้น”
งานหน้าบ้านที่ได้อ่านที่มาที่ไปงานหลังบ้านอย่างการเขียนโค้ดก็สำคัญโครงการนี้ได้มือดีอย่าง เปรียว นายจิรวัฒน์ ดามัง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 “งานเขียนโค้ดเป็นความถนัดที่ผมชอบ แต่ตอนแรกแอบลังเล ไม่เคยร่วมงานที่ใหญ่ขนาดนี้เราจะทำได้ไหม ก็เลยคิดว่าลองดูเพราะผลที่ออกมาก็มีแต่คำว่าได้กับได้ ถือเป็นความท้าทายเพราะเขียนโค้ดให้เกมๆ นึงออกมามีชีวิตโลดแล่นบนแพลตฟอร์มต้องคิดทุกมิติ ยิ่งการทำให้สมจริงผมต้องศึกษามากขึ้นกว่าที่เคยรู้ ต้องเปิดโอกาสของการเป็นผู้เล่นว่าจะได้ไหมหากเราทำแบบนี้ เขียนยังไงให้ไม่ติดบัค เมื่อเกมเสร็จสมบูรณ์ผมยังคงมอนิเตอร์ตลอดอยากให้เป็นเกมที่เกิดความรู้และเป็นเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ที่ผมเองก็ดีใจว่านี่เกมของพวกเรานะ”
สุดท้ายขอปิดด้วยหน้าที่ โมเดลลิ่งงานปั้นที่เป็นรูปร่างหน้าตาให้เราเห็นต้องยกให้ ดิว
นายศิรสิทธิ์ ตุ้มวิจิตร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 “ตอนแรกคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรยากนะ งานปั้นทำโมเดล เราทำได้แต่พอได้ลงมือทำผมถึงกลับต้องเรียนรู้ผ่านตัวละครผ่านเรื่องราวทุกอย่าง ยอมรับว่าเริ่มหนึ่งเรียนรู้พร้อมเกมเพื่อให้เกิดภาพเรื่องราวในเกมที่มีลูกเล่นดีเทลเยอะมาก เกมนี้ผู้เล่นจะพบว่าไม่ใช่ง่ายๆ ที่เกมแต่ละด่านจะผ่านไปทุกเรื่องราวพลิกทุกสถานการณ์จากตัวผู้เล่น ดังนั้นผมต้องออกแบบทุกมิติของเหตุการณ์ให้มากที่สุด เพราะไม่ว่าผู้เล่นจะเลือกทางไหน ก็จะพบภาพต่างๆ ในเกมอย่างสมจริง เเละผมก็ได้มีส่วนช่วยทําระบบเกมต่างๆ ลงมือเขียนโค้ดเพิ่มเติมเพื่อให้เกมดีที่สุดกว่างานไหนๆ ที่เคยทํามา ดีใจที่ได้เป็นหนึ่งในความสำเร็จนี้ ไม่ใช่ผู้เล่นที่ได้เรียนรู้ ตัวผมเองก็ได้เรียนรู้จากเกมนี้เหมือนกัน”
ทางด้าน ผศ.ดร.วรวัฒน์ เชิญสวัสดิ์ และ ผศ.ดร.กิ่งกาญจน์ สุขคณาภิบาล อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้ดูแลโครงการอยู่รอดวิทยา (School of Survival) มีความตั้งใจให้เกมไม่เพียงเป็นเครื่องมือที่ให้ความรู้ในการเอาตัวรอดจากการเล่นเกมในแต่ละด่านแต่ยังมอบความสนุกในการเล่น และยังมีการแจกไอเทมพิเศษ ที่จะได้จากเกมนี้เท่านั้นรวมถึงยังทำให้เกิด Community ของโรงเรียนในเกมนี้อีกด้วยและตัวเกมสามารถนำไปเป็น Prototype ให้กับทุกโรงเรียนที่สนใจ นำไปปรับ Map และ Detail ต่างๆ ในเกมให้เข้ากับโรงเรียนของตัวเองและสามารถนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ในชั้นเรียนได้อีกด้วย
โครงการอยู่รอดวิทยาเป็นความต่อเนื่องหรือกล่าวได้ว่าเป็นปีที่ 2 ของโครงการ "Coding for Metaverse" ซึ่งในปีที่แล้วเน้นการสร้างทักษะการเขียนโค้ดเพื่อสร้างเนื้อหาในโลกเสมือน ปีนี้โครงการได้เพิ่มแนวคิดใหม่ๆ โดยนำเกมมาใช้เป็นเครื่องมือในการฝึกทักษะการเอาตัวรอด สำหรับโรงเรียนที่สนใจสามารถติดต่อผ่านช่องทางโครงการอยู่รอดวิทยาหรือที่เว็บไซต์ของโครงการ โดยจะมีรายละเอียดของโครงการและแหล่งข้อมูลสำหรับการพัฒนาคอนเทนต์การเรียนการสอนที่เหมาะสมกับยุคดิจิทัลและโลกเสมือนใหม่ได้ที่ www.codingformetaverse.com
คลิกชม Present School of Survival
คลิกชมเว็บไซต์เเละช่องทางอื่นๆ ของเกม School of Survival
แห่งการเรียนรู้
ไปกับ
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ให้เราช่วยเลือกหลักสูตร คณะ สาขาหรือต้องการติดต่อกับเรา
ข้อมูลการศึกษา
ข้อมูลการสมัคร
ติดต่อมหาวิทยาลัย