Featured Stories
ข่าวสารและบทความ — เด็ก BU ร่วมโชว์ฝีมือคว้า 3 รางวัลสายฟ้าน้อยครั้งที่ 18

ขอแสดงความยินดีกับทีมกระตุกจิต กระชากใจ รับ 3 รางวัลสายฟ้าน้อย ครั้งที่ 18 ประจำปี 2566 ภายใต้โครงการขับเคลื่อนพัฒนาวิชาชีพและส่งเสริมจริยธรรมสื่อ เพื่อสร้างระบบนิเวศสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีผลงานจากนักศึกษาส่งเข้าประกวดจำนวน 60 เรื่อง จาก 13 สถาบันการศึกษา และ 1 สหมหาวิทยาลัย จัดโดยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมสนับสนุนกิจกรรม บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น

สมาชิกทีมกระตุกจิต กระชากใจ
นายณันธชัย พยุหกฤษ นักศึกษาสาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
นายพรพิศิษฐ แดนนาเฟือง นักศึกษาสาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
นางสาวธัญชนก เหล่าวิเศษกุล นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นางสาวไพรินทร์ ท่อนทอง นักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

3 รางวัลที่ภาคภูมิ
สารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ รางวัลดีเด่น ประเภทสิ่งแวดล้อม ผลงานเรื่อง : คุ้มได้ ไม่คุ้มเสีย อนาคตอ่างเก็บน้ำคลองมะเดือ ? รับโล่เกียรติยศ และเงินรางวัล จำนวน 2o,ooo บาท
สารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ รางวัลดีเด่น ประเภทวิถีชุมชน ผลงานเรื่อง : ตลาดน้อย ชุมชนที่เปลี่ยนแปลง กับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป รับโล่เกียรติยศ และเงินรางวัล จำนวน 2o,ooo บาท
สารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ รางวัลชมเชย ประเภทอัตลักษณ์วัฒนธรรม ผลงานเรื่อง : ศรีเทพ โบราณนคร จากอดีตสู่อนาคต รับโล่เกียรติยศ และเงินรางวัล จำนวน 1o,ooo บาท

จุดเริ่มต้นทีมกระตุกจิต กระชากใจ
“จุดเริ่มต้นมาจากการที่ได้เข้าค่ายสายฟ้าน้อยของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ที่จัดขึ้นทุกปี ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 20 โดยจะมีนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เป็นตัวแทนมาค่าย ทำให้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกัน และได้เรียนรู้จากวิทยากรมืออาชีพในด้านสื่อสารมวลชน หลังจากจบค่ายพอรู้ว่าจะมีโครงการให้ส่งประกวดรางวัลสายฟ้าน้อย ที่จัดโดยสมาคมนักข่าวฯ เช่นเดียวกัน ประกอบกับกลุ่มเรามีผลงานที่ดีจึงมีการรวมทีมเกิดขึ้น ถือว่าเป็นครั้งแรกของการส่งผลงานที่เป็น “สหมหาวิทยาลัย” ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี”

หัวใจของทีมคือความตั้งใจเล่าเรื่องผ่านผลงาน
“หลังจากที่ได้สมาชิกในการส่งผลงานแล้ว อุปสรรคหนึ่งของการทำงานที่หลีกเหลี่ยงไม่ได้คือการที่เราอยู่ต่างมหาวิทยาลัย การทำงานแต่ละครั้งค่อนข้างยากลำบากเพราะต้องหาช่วงเวลาที่ตรงกันสำหรับการลงพื้นที่ ส่วนหนึ่งต้องยึดวันเวลาในการสัมภาษณ์แหล่งข่าวเป็นสำคัญ และออกต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับการทำงาน แม้จะอยู่กันต่างมหาวิทยาลัย แต่ก็ได้เรียนรู้ถึงกระบวนการทำงานของแต่ละคนตั้งแต่อยู่ในค่าย ประกอบกับการมี ความคิดที่จะลงมือทำ แต่ละคนก็มีความถนัดเฉพาะด้าน เช่น บางคนถนัดการเขียนข่าว ทำสกู๊ป การสัมภาษณ์ บางคนถนัดด้านกราฟิก ตัดต่อ บางคนถนัดด้านการถ่ายภาพที่สื่อความหมายออกมาได้ดี สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่ทำให้เราได้ร่วมงานกันคือความมีอุดมการณ์ของการเป็นคนข่าว และต้องการเสนอข้อเท็จจริงผ่านมุมมองจากหลายๆ ฝ่ายอย่างเท่าเทียม”

สิ่งที่ได้รับมากกว่ารางวัล
“ตั้งแต่เริ่มตั้งทีมกัน เราก็ได้เริ่มเก็บเกี่ยวสิ่งที่ได้ตั้งแต่ตอนนั้น เพราะการวางแผนการทำงานระหว่างเพื่อนต่างมหาลัย เพื่อทำข่าวหลายชิ้นใหญ่ ๆ ในเวลา 1 เดือนนั้นก็เป็นโจทย์ที่ยากมากพอ ที่จะสอนทุกคนในทีมให้ทำงานร่วมกัน จนสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันให้จนได้ นอกเหนือจากเพื่อนร่วมงาน เราได้มิตรภาพของการอยู่ร่วมกันเป็นทีมที่เราเข้ากันได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ เราได้เห็นด้านต่างๆ ได้ปรับตัวเข้ากับเพื่อนทุกคนให้อยู่กับความหลากหลายให้ได้ เราได้ประสบการณ์การทำงานจริงจากการทำข่าวจริง ตั้งแต่เริ่มวางประเด็นไปจนถึงสำเร็จอกมาเป็นชิ้นงาน ทุกคนได้เรียนรู้กระบวนการร่วมกันเพื่อทักษะเหล่านี้ไปต่อยอดกับงานที่ตัวเองถนัดและได้ทักษะที่พัฒนาจากการทำงานในครั้งนี้มาแต่ละด้านแต่ละคนไม่เท่ากันแต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราได้จะช่วยต่อยอดงานที่เราอยากทำในอนาคตได้อย่างแน่นนอน”
แห่งการเรียนรู้
ไปกับ
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ให้เราช่วยเลือกหลักสูตร คณะ สาขาหรือต้องการติดต่อกับเรา
ข้อมูลการศึกษา
ข้อมูลการสมัคร
ติดต่อมหาวิทยาลัย