Featured Stories
School of Economics and Investment — Featured Stories — คณะเศรษฐศาสตร์และการลงทุน ม.กรุงเทพ ดึงกูรูติดอาวุธเสริมแกร่งการตลาด ศาสตร์ที่นักเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ต้องรู้เมื่อพูดถึงอาชีพ “นักเศรษฐศาสตร์” เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงภาพของผู้ที่นำหลักการทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการวิเคราะห์ วิจัย ทิศทางทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค ภาพจำของหลายคนจึงมักเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานให้ภาครัฐเสียเป็นส่วนใหญ่
แต่อันที่จริง นักเศรษฐศาสตร์มีบทบาทสำคัญยิ่งทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่จำเป็นต้องได้ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์ทิศทางของธุรกิจ ดังนั้นการจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความรู้รอบและรอบรู้ พร้อมทำงานได้หลากหลายมิติมากกว่าที่เคยอยู่ในภาพจำ จึงจำเป็นต้องมีความรู้ทางด้านการวิเคราะห์ตลาดและการทำแผนธุรกิจควบคู่ไปด้วย คณะเศรษฐศาสตร์และการลงทุน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงได้เชิญ คุณสรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโร (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยชั้นนำในเครือบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กูรูตัวจริงด้านการวิจัยตลาดมาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์และทำแผนการตลาดให้แก่นักศึกษาของคณะ
โดยคุณสรินพรได้ชี้ให้นักศึกษาเห็นว่า ทุกวันนี้อยู่ในยุค More Brands ที่ผู้บริโภคมีตัวเลือกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการซื้อขายก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่มีช่องทางการซื้อที่หลากหลายทั้งออนไลน์และเดลิเวอรี่ ทั้งยังเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทว่ากลับสวนทางกับเม็ดเงินในการจับจ่ายของผู้บริโภค ทำให้เกิดการแข่งขันในท้องตลาดที่สูงมาก ถ้าธุรกิจไม่ทำวิจัยก็จะไม่รู้ว่า ควรใช้กลยุทธ์ใดในการดำเนินธุรกิจ ไม่รู้จักตลาด รู้ไม่เท่าทันผู้บริโภค โดยการทำวิจัยนี้จะช่วยให้รู้วิธีเปลี่ยนทัศนคติลูกค้า ทำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์สินค้า และสามารถแบ่ง Market Share จากคู่แข่งได้ ประการสำคัญคือลูกค้าจะกลับมาซื้อสินค้าซ้ำ ซึ่งจะส่งผลให้แบรนด์อยู่ได้นานอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ผลสำรวจพบว่า ในแต่ละปี มีจำนวนกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าออกใหม่ที่ตายไปจากตลาด เพราะไม่สามารถเอาตัวรอดในกระแสธุรกิจที่เชี่ยวกรากได้
ด้าน ผศ.ดร.กาญจนา ส่งวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และการลงทุน ม.กรุงเทพ เสริมว่า ผู้ที่มีส่วนช่วยให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ก็หนีไม่พ้น “นักเศรษฐศาสตร์” ที่จะมาวิเคราะห์ทิศทางทางการตลาดโดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์มาเป็นเครื่องมือ เช่น การตั้งราคาสินค้าที่สอดคล้องกับความสามารถในการจับจ่ายของประชาชน การประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศว่าเป็นเช่นไร เหมาะสมหรือไม่อย่างไรในการออกผลิตภัณฑ์ การกำหนดราคาให้สูงขึ้นหรือต่ำลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมไปถึงการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อพัฒนากลยุทธ์ที่เหมาะสม เป็นต้น นักเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่จึงไม่อาจมีความรู้ทางด้านการวิเคราะห์เศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องมีความรู้ด้านวิเคราะห์ทางการตลาด และความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในเชิงลึกด้วย เพื่อที่จะวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถวางแผนกลยุทธ์ได้อย่างแม่นยำขึ้น
การบรรยายในหัวข้อดังกล่าว จึงถือเป็นการเสริมความแกร่งนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์และการลงทุน ม.กรุงเทพ ให้มีทักษะรอบด้าน อีกทั้งยังสมกับความเป็น “คณะเศรษฐศาสตร์และการลงทุน” ที่ไม่เพียงสอนด้านเศรษฐศาสตร์ แต่ยังผนวกทักษะด้านการลงทุนและการบริหารเข้าไปด้วย เพื่อให้บัณฑิตมีความรอบรู้ สามารถประยุกต์ใช้ทฤษฎีสู่การปฏิบัติ และพร้อมทำงานในสายงานเศรษฐศาสตร์ที่มีความหลากหลายและกว้างไกลกว่าที่คิดไม่ว่าจะในภาครัฐหรือภาคเอกชน